• Electricity cost – ค่าไฟไม่ใช่ปัญหา

    แน่นอนว่าหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในครัวเรือนที่มักจะมาแปะไว้ที่หน้าบ้านเราในทุก ๆ เดือนนั้นก็คือ… ” ค่าไฟ ” นั่นเองค่ะ

    ค่าไฟฟ้าเป็นค่าบริการที่ทุกบ้านจำเป็นต้องจ่ายจากการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งสำหรับบ้านไหนที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ หัวข้อนี้ก็คงจะไม่เป็นปัญหาใดใดกับพวกเขา ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยใช่ไหมคะหากเราได้เรียนรู้การคำนวณค่าไฟฟ้า เพื่อวางแผนการเลือกใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม และยังส่งผลช่วยในเรื่องของค่าไฟที่ลดลงได้อีกด้วย

    ค่าไฟฟ้า… มาจากไหน ?

    ตัวการสำคัญที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็คือ..”เครื่องใช้ไฟฟ้า” อันดับแรกเลยเราต้องตรวจเช็คก่อนว่าภายในบ้านของเรานี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง? และแต่ละเครื่องต้องใช้กำลังไฟที่เท่าไหร่? นอกเหนือจากแรงดันไฟฟ้าซึ่งนับเป็นหน่วยหนึ่งที่ระบุการใช้ไฟฟ้าได้แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่จะระบุถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้เช่นกันก็คือหน่วยไฟวัตต์ (W) ซึ่งจะระบุไว้ที่บริเวณฉลากของเครื่องใช้ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้เองหากเราทราบว่าในแต่ละวันเราได้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้างเพื่อนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น โดยมีตัวอย่างง่าย ๆ ดังนี้

    • พัดลม ( 4 เครื่อง ) ใช้กำลังไฟประมาณ 50W เปิดวันละ 8 ชั่วโมง
    • ไดร์เป่าผม ( 2 เครื่อง ) ใช้กำลังไฟประมาณ 1000W เปิดวันละ 2 ชั่วโมง
    • เครื่องทำน้ำอุ่น ( 1 เครื่อง ) ใช้กำลังไฟประมาณ 4000W เปิดวันละ 2 ชั่วโมง
    • เตารีด ( 2 เครื่อง ) ใช้กำลังไฟประมาณ 1500W เปิดวันละ 2 ชั่วโมง

    สูตรการคำนวณจำนวนหน่วยการใช้งานไฟฟ้า

    หน่วยการใช้ไฟฟ้าจะปรากฏอยู่ที่มิเตอร์ไฟของแต่ละบ้าน ซึ่งตัวมิเตอร์เองจะหมุนทำงานต่อเมื่อมีการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจำนวนหน่วยไฟฟ้านี้จะคำนวณได้จาก กำลังไฟที่ใช้ และระยะเวลาดังนี้

    ตัวอย่างการคำนวณหน่วยการใช้ไฟฟ้า

    อ้างอิงจากการยกตัวอย่างการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า (ด้านบน) สามารถคำนวณออกมาได้ดังนี้

    พัดลม : (50 x 4 / 1000) x 8 = 1.6 หน่วยต่อวัน….. เดือนละ 48 หน่วย
    ไดร์เป่าผม : (1000 x 2 / 1000) x 2 = 2 หน่วยต่อวัน….. เดือนละ 60 หน่วย
    เครื่องทำน้ำอุ่น : (4000 x 1 / 1000) x 2 = 8 หน่วยต่อวัน….. เดือนละ 240 หน่วย
    เตารีด : (1500 x 2 / 1000) x 2 = 3 หน่วยต่อวัน….. เดือนละ 90 หน่วย

    ** จากตัวอย่างนี้ เราสามารถคาดคะเนได้ว่าจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ไปต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 438 หน่วย **

    วิธีการคำนวณค่าไฟฟ้า

    จากตัวอย่าง บ้านหลังนี้จะใช้ไฟฟ้าประมาณเดือนละ 438 หน่วย ซึ่งการคำนวณการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นรูปแบบอัตราก้าวหน้า โดยมีอัตราระบุไว้ดังนี้ (อ้างอิงจากประเภทที่ 1.2 บ้านอยู่อาศัย) 

    150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1 – 150) หน่วยละ 3.2484 บาท [ 150 x 3.2484 = 487.26 บาท ]
    250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) หน่วยละ 4.2218 บาท [ 250 x 4.2218 = 1,055.45 บาท ]
    เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท [ 38 (หน่วยที่เหลือ) x 4.4217 = 168.02 บาท ]

    รวมเป็นเงิน 487.26 + 1,055.45 + 168.02 = 1710.73 บาท *ยังไม่รวมค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่ม

    หรือท่านสามารถคำนวณค่าไฟฟ้าง่าย ๆ จากเว็บไซต์ด้านล่างได้ด้วยเช่นกัน

    การไฟฟ้านครหลวง : https://www.mea.or.th/aboutelectric/116/280/form/11

    การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : https://www.pea.co.th/webapplications/EstimateBill/index.html