อย่างที่หลายๆ ท่านทราบดีว่า อุปกรณ์โซลิดสเตตรีเลย์(Solid-State Relay) หรือที่เราเรียกย่อๆว่า SSR นั้นจะถูกนำมาใช้งานในลักษณะคล้ายกับอุปกรณ์รีเลย์(Relay) กล่าวคือ เป็นสวิตซ์ตัวหนึ่งที่มีหน้าที่เปิด-ปิดวงจรต่างกันตรงที่ เราจะนิยมใช้โซลิดสเตตรีเลย์กับงานที่ต้องการความรวดเร็วในการสลับเปิด-ปิดวงจร (Switching) และไม่ต้องการให้มีการเคลื่อนที่ของหน้าสัมผัส(Contact) เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ ซึ่งถ้าหากใช้รีเลย์ชนิดหน้าสัมผัสแทน ก็อาจทำให้เกิดการสปาร์ค (Spark) ของกระแสไฟที่หน้าสัมผัสส่งผลให้อายุการใช้งานของรีเลย์สั้นลง
การใช้งานโซลิดสเตตรีเลย์หรือ SSR ตามหลักความจริงแล้วควรจะใช้ร่วมกับอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ฟิวส์ที่ผลิตจากสารกึ่งตัวนำ และใส่ที่วงจรเอาท์พุต(Output) ของ SSR เพื่อป้องกันความเสียหายจากการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากนี้การป้องกันการเกิดความเสียหายที่อาจเกิดกับภาคอินพุต(Input) ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน การป้อนปริมาณไฟฟ้าที่ถูกขนาดและถูกขั้วก็นับเป็นการป้องกันการเกิดความเสียหายที่ภาค Input จากรายละเอียดต่างๆ ที่เราควรคำนึงถึงได้แก่….
อุปกรณ์ SSR จะมีวงจร C/R Snubber มีหน้าที่ลดการกระชาก(Surge) ของแรงดันไฟ แต่ถ้าแรงดัน Surge มีขนาดใหญ่มากๆ วงจร C/R Snubber จะไม่สามารถรองรับได้และแรงดัน Transient หรือแรงดันไฟฟ้าที่สูงชั่วขณะในช่วงเวลาสั้นๆ อาจสูงเกินกว่าที่โซลิดสเตตรีเลย์(SSR) จะรับได้และทำให้อุปกรณ์ SSR เกิดความเสียหายได้
แต่สำหรับอุปกรณ์โซลิดสเตตรีเลย์(Solid State Relay) รุ่นที่ไม่มีวงจรลดการกระชากแรงดันไฟ หากนำไปใช้กับโหลด Inductive ต้องให้แน่ใจว่าได้ต่อวงจรลด Surge เพิ่มเข้ากับวงจรเอาท์พุต ดังตัวอย่างข้างล่างนี้ที่ใช้ตัว Varistor ต่อที่ตำแหน่ง A กรณีที่ SSR ไม่มีวงจรลด Surge ในตัวและต่อตำแหน่ง B กรณีมีวงจรลด Surge ในตัว
หากเราใช้งานโหลดชนิด Inductive เช่น Solenoid Value แนะนำว่าควรต่อไดโอดคล่อมที่โหลดดังตัวอย่างภาพแสดงการต่อวงจรด้านล่าง เพื่อป้องกัน Counter-electromotive force (CEF) ถ้า CEF เกินกว่าค่า withstand voltage ของ SSR ก็จะทำให้ SSR เกิดความเสียหายที่เอาท์พุตได้
สำหรับโหลดฮีตเตอร์จะไม่มี Inrush Current ดังนั้นถ้าเราใช้อุปกรณ์ SSR ที่มี Zero cross function ก็จะช่วยลดปัญหาการเกิด noise ได้
แต่ถ้าโหลดชนิดนี้เป็นฮีตเตอร์ที่ทำจากโลหะหรือเซรามิคซึ่งมีความต้านทานต่ำเมื่ออุณหภูมิต่ำ ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดกระแสเกินพิกัดและส่งผลให้ SSR เสียหายได้ ดังนั้นจึงควรเลือกเป็นอุปกรณ์ SSR ชนิด Constant Current จะดีกว่า
หลอดไฟจะมี Inrush Current จำนวนมหาศาลไหลผ่าน ดังนั้นการเลือกอุปกรณ์ SSR จึงควรเลือกที่สามารถรับค่า Peak ของ Inrush Current ที่สูงกว่าหนึ่งเท่าตัวของ Inrush Current ของโหลด
กรณีของโหลดมอเตอร์ เมื่อมอเตอร์เริ่มทำงานจะมี Inrush Current เกิดขึ้นประมาณ 5-10 เท่าของกระแสพิกัดและคงอยู่เป็นเวลานาน ดังนั้นการเลือก SSR เราจึงต้องแน่ใจก่อนว่า Inrush Current ของโหลดมีค่าเป็นครึ่งหนึ่งของความสามารถในการทนต่อ Inrush Current ของอุปกรณ์ SSR
การเกิดกระแสลัดวงจรหรือกระแสเกินพิกัดนั้นทำให้เกิดความเสียหายกับภาค Output ของ SSR เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย เราจึงควรต่อ Quick-break fuse อนุกรมให้กับโหลด
สำหรับ SSR รุ่นที่ไม่มีอุปกรณ์ฮีทซิงค์(Heat Sink) มาด้วย จำเป็นจะต้องใช้ Heat Sink จากภายนอกมาช่วยซึ่งขนาดของมันก็จะขึ้นอยู่กับกระแสไฟที่ใช้ของโหลด โดยปกติแล้ว Heat Sink นั้นมีหน้าที่กระจายความร้อนที่เกิดขึ้นจาก SSR ถ้า Heat Sink ไม่สามารถระบายอากาศเต็มที่ตัวอย่างเช่น การติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม, มีฝุ่นเกาะแน่นจนเกิดอุณหภูมิสะสมสูง ก็เป็นสาเหตุให้ SSR ไม่สามารถทนกระแสโหลดได้ตามพิกัดกำหนด