แบตเตอรี่ อุปกรณ์แหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าและสามารถเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าได้ ภายในแบตเตอรี่จะมีเซลล์กัลวานิก (Galvanic cell) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยจะประกอบไปด้วย 2 ขั้วไฟฟ้า ได้แก่ ขั้วบวก (Anode) และ ขั้วลบ (Cathode)
อีกทั้งยังมีสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่สามารถนำไฟฟ้าได้จากการเคลื่อนที่ไปมาของไอออนภายในสารอิเล็กโทรไลต์ โดยภายในเซลล์กัลวานิกนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาถ่ายโอนอิเล็กตรอนจากสารหนึ่งไปอีกหนึ่งสาร การไหลของอิเล็กตรอนผ่านตัวนำอย่างต่อเนื่องนี้ได้ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในวงจร ในก้อนแบตเตอรี่ก้อนหนึ่งนั้นอาจประกอบด้วยเซลล์กัลวานิกได้ 1 เซลล์หรือมากกว่านั้น
แบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้…
1.) แบตเตอรี่แบบประจุไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ [ Non-rechargeable battery ]
แบตเตอรี่ชนิดประจุไฟฟ้าใหม่ไม่ได้ (เซลล์กัลวานิกแบบปฐมภูมิ) สามารถใช้งานได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องชาร์จไฟก่อนใช้งานแต่ใช้ได้ครั้งเดียว ไม่สามารถชาร์จไฟซ้ำแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ด้วยเหตุผลที่ว่าพลังงานไฟฟ้าที่ได้นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสารเคมีของเซลล์แบตเตอรี่ สารเคมีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้วไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ และเมื่อสารเคมีถูกเปลี่ยนแปลงไปจนหมดพลังงาน ไฟฟ้าก็จะหมดจากแบตเตอรี่ไปด้วยเช่นกัน ตัวอย่างแบตเตอรี่ประเภทนี้ ได้แก่ Zinc–carbon Battery , Alkaline Battery , Nickel oxyhydroxide battery , Lithium battery เป็นต้น
แบตเตอรี่ประเภทนี้จะเหมาะสำหรับการนำไปใช้ในอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้สะดวก และใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณน้อย ๆ เช่น ไฟฉาย วิทยุ นาฬิกา เครื่องคิดเลข เครื่องฟังเสียงสําหรับคนหูพิการ ฯลฯ
2.) แบตเตอรี่แบบประจุไฟฟ้าใหม่ได้ [ Rechargeable battery ]
แบตเตอรี่แบบประจุไฟฟ้าใหม่ได้ (เซลล์กัลวานิกแบบทุติยภูมิ) เป็นแบตเตอรี่ที่จำเป็นต้องชาร์จไฟก่อนที่จะใช้งานในครั้งแรกและสามารถชาร์จไฟซ้ำได้หลังจากพลังงานหมด
เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในแบตเตอรี่ประเภทนี้สามารถทำให้กลับไปอยู่ในสภาพเดิมได้โดยการชาร์จกระแสไฟเข้าไปใหม่ จำเป็นต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเติมประจุไฟให้กับแบตเตอรี่ซึ่งเรียกว่า เครื่องชาร์จ หรือ Charger ตัวอย่างแบตเตอรี่ประเภทนี้ ได้แก่ Nickel-Cadmium Battery, Lead–Acid Battery, Nickel–Metal Hydride Battery, Lithium-ion Battery เป็นต้น
เรามักพบเห็นการใช้งานแบตเตอรี่ประเภทนี้ในยานพาหนะ ( Lead–Acid Battery ) ในเครื่องมือไฟฟ้า วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ( Nickel-Cadmium Battery ) และในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์แบบพกพาเช่นการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า ( Lithium-ion Battery )