• สิ่งที่ต้องรู้!! How to…เลือกซื้อรีเลย์ (Relay)

    ก่อนหน้านี้เราได้เคยนำเสนอบทความ แนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับอุปกรณ์รีเลย์(Relay) ไปแล้วว่าคืออะไร? มีกี่ประเภท? และมีลักษณะการทำงานอย่างไรบ้าง

    แต่สำหรับวันนี้!! ในบทความนี้!!! เราจะขอพาทุกท่านมาดูต่อว่าถ้าเราจะเลือกซื้อรีเลย์ สิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้เพื่อการเลือกรุ่นรีเลย์ได้ถูกต้อง ตรงกับการใช้งานร่วมกับเครื่องจักรและระบบงานของคุณ คุณจำเป็นต้องรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วย เริ่มจาก…

    พิกัดแรงดัน

    เป็นขนาดของแรงดันไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายให้แก่ขดลวดเหนี่ยวนำของรีเลย์เพื่อให้เกิดการเหนี่ยวนำหน้าสัมผัส(Contact) ตัวอย่างเช่น 200/220 VAC, 24 VDC ด้วยเหตุนี้เวลาสั่งซื้อรีเลย์ เราจำเป็นจะต้องกำหนดพิกัดแรงดันต่อท้ายจากชื่อรุ่นของรีเลย์ด้วย เช่น MY2-GS 6 VAC (MY2-GS = ชื่อรุ่น, 6 VAC = พิกัดแรงดันขดลวดเหนี่ยวนำ)

    ชนิดของโหลด

    ชนิดของโหลดที่จะนำมาใช้กับรีเลย์ เช่น มอเตอร์ AC, โซลีนอยด์ AC, โซลีนอยด์ DC, สวิตซ์แม่เหล็ก DC ฯลฯ

    พิกัดโหลด

    เป็นอัตราความทนได้ต่อแรงดันที่กระทำต่อหน้าสัมผัสและกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านหน้าสัมผัส เช่น 5 A, 220 VAC หมายถึงหน้าสัมผัสของรีเลย์สามารถทนต่อกระแสไฟได้ 5 A เมื่อหน้าสัมผัสถูกป้อนแรงดัน 220 VAC

    ขั้วต่อของรีเลย์ (Terminals)

    • Plug-in / Solder Terminal : ขั้วต่อชนิดนี้จะถูกยึดกับสายไฟโดยใช้การบัดกรี แต่ถ้าผู้ใช้งานไม่ต้องการจะยึดกับสายไฟโดยตรงก็สามารถติดตั้งลงบนซ็อกเก็ต แล้วยึดสายไฟเข้ากับซ็อกเก็ตอีกทีหนึ่งก็ได้เช่นกันค่ะ
    • Screw Terminal  : ขั้วต่อชนิดนี้จะถูกยึดกับสายไฟด้วยการใช้สกรูเป็นตัวยึด
    • Octal Pin Terminal :  ขั้วต่อชนิดนี้ขาของรีเลย์จะเรียงกันเป็นวง เวลาติดตั้งรีเลย์ชนิดนี้จะถูกเสียบลงบนซ็อกเก็ตที่มีลักษณะเป็นวงกลม
    • Quick Connect Terminal  : ขั้วต่อชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นขั้วต่อตัวผู้โดยที่สายไฟจะถูกเชื่อมต่อกับขั้วต่อตัวเมีย เวลาที่จะยึดขั้วต่อชนิดนี้เข้ากับสายไฟก็เพียงนำขั้วต่อตัวเมียที่เชื่อมอยู่กับสายไฟมาเสียบเข้ากับขั้วต่อตัวผู้ของรีเลย์
    • Wire-wrap Terminal : ขั้วต่อชนิดนี้จะถูกยึดกับสายไฟโดยใช้การพันสายไฟไปรอบๆ ขั้วต่อให้แน่นโดยใช้เครื่องพัน
    • PCB Terminal : ขั้วต่อชนิดนี้จะถูกติดตั้งโดยตรงกับแผ่น PCB (Printed circuit board)

    ตัวบอกสถานะการทำงาน (Indicator)

    รีเลย์บางรุ่นจะมีตัวบ่งบอกสถานะการทำงานเป็นไฟแสดงผล เช่น หลอด LED, หลอดนีออน-หลอดไส้ หรือเป็นตัวแสดงผลทางกลไก เพื่อทำให้ทราบว่าในขณะนั้นหน้าสัมผัส (Contact) ของรีเลย์กำลังทำงานอยู่หรือไม่ ถ้าหน้าสัมผัสของรีเลย์ทำงาน (Turn on) ตัวบอกสถานะก็จะทำงาน

    รีเลย์ออมรอนที่มีตัวบอกสถานะการทำงาน (Indicator) ในตัวจะมีรหัสอักษร “N” ต่อท้ายจากชื่อรุ่นปกติ เช่น LY1N, MY2N-GS เห็นได้ว่าจะแตกต่างกับรุ่นดั้งเดิมที่ไม่มีตัวบอกสถานะการทำงานในตัวเช่นรุ่น LY1, MY2-GS นั่นเองค่ะ

    การติดตั้งรีเลย์และซ็อกเก็ต (Socket)

    การที่เรารู้หรือมีได้วางแผนการติดตั้งรีเลย์ไว้ก่อนล่วงหน้า ทำให้เรารู้ว่าเราจำเป็นต้องใช้ซ็อกเก็ตหรือไม่ หากจะต้องใช้ เราควรเลือกซื้อซ็อกเก็ตรุ่นอะไรเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ รูปด้านล่างนี้จะเป็นการติดตั้งรีเลย์ในแบบต่างๆค่ะ

    ดังนั้นในการสั่งซื้อรีเลย์ของออมรอน Omron จะมีขั้นตอนดังนี้…

    1.) ตรวจสอบไฟที่ป้อนให้กับขดลวดเหนี่ยวนำ (พิกัดแรงดัน) ว่ามีขนาดกี่โวลท์(Volt) เป็นไฟ AC หรือ DC (แถวตั้งที่ 2 ของตาราง)

    2.) เลือกจำนวนหน้าสัมผัส(Contact) ว่าจะมีกี่ชุด(Pole) และเป็นชนิดไหน เช่น SPST, SPDT ฯลฯ (แถวตั้งที่ 3 และ 4 ของตาราง)

    3.) พิจารณาว่าหน้าสัมผัส(Contact) ควรจะทนกระแสไฟได้กี่แอมป์ หรือเลือกจำนวนพิกัดโหลด(แถวตั้งที่ 5 ของตาราง)

    4.) จากข้อ 1 ถึง 3 เราสามารถเลือกรุ่นของรีเลย์ได้จากแถวตั้งที่ 1 ของตาราง

    จากตารางแถวที่ 1 รายการที่ 1-6 จะเป็นรีเลย์ของ Omron รุ่น LY1N ซึ่งมีพิกัดโหลดเป็น 15 A และหน้าสัมผัสเป็นชนิด SPDT ทั้งหมด แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ขนาดของพิกัดแรงดัน

    ** ฉะนั้นเวลาที่เราจะสั่งซื้ออุปกรณ์รีเลย์ออมรอน การระบุขนาดของพิกัดแรงดันต่อท้ายจากชื่อรุ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำคัญมาก!! **

    5.) เราสามารถเลือกรุ่นของซ็อกเก็ตที่เหมาะสมกับรีเลย์แต่ละรุ่นได้จากแถวตั้งที่ 6 ของตาราง

    หากใครที่ยังสงสัยหรือยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเจ้าตัวอุปกรณ์รีเลย์ (Relay) สามารถย้อนกลับไปดูบทความก่อนหน้านี้ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ