• เจ้านี่เองหรอ..”Relay” (รีเลย์) ??

    Relay (รีเลย์) คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสวิตซ์ตัด-ต่อวงจรด้วยการจ่ายไฟให้มัน ทำให้หน้าสัมผัสติดกัน กลายเป็นวงจรปิด และเมื่อหยุดจ่ายไฟ มันก็จะกลายเป็นวงจรเปิดนั่นเอง เราสามารถแบ่งชนิดของรีเลย์ได้ 5 ประเภท ตามรูปแบบการทำงาน ดังนี้…

    1.) รีเลย์ทั่วไป (General Purpose Relay) คือ รีเลย์ปกติที่ทำงานจากการป้อนกระแสไฟผ่านขดลวด (Coil)

    2.) เพาเวอร์รีเลย์ (Power Relay) คือ รีเลย์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับอุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟมาก

    3.) แลทชิ่งรีเลย์ (Latching Relay) : รีเลย์ที่ทำงานคล้ายกับรีเลย์ทั่วไป แตกต่างที่การทำงานของแลทชิ่งรีเลย์จะต้องจ่ายไฟผ่านขดลวด (Coil) ที่ขา Set และจะยังคงทำงานอยู่อย่างนั้นแม้หยุดจ่ายไฟ อุปกรณ์จะหยุดทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายไฟอีกครั้งที่ขารีเซ็ต (Reset)

    4.) แรทเชทรีเลย์ (Ratchet Relay) : รีเลย์ที่ทำงานใกล้เคียงกับแลทชิ่งรีเลย์ แตกต่างที่ขาของแรทเชทรีเลย์จะรวมเอาขาSet และResetไว้ด้วยกันในขาเดียว ดังนั้น หน้าคอนแทคจึงสลับเปิด-ปิดทุกครั้งเราจ่ายไฟผ่านขดลวด(Coil)

    5.) สเตปปิ้งรีเลย์ (Stepping Relay) : รีเลย์ที่มีหลายคอนแทค โดยแต่ละหน้าคอนแทคจะทำงานสลับกับเรียงไปตามลำดับ หากมีการจ่ายไฟเข้าไป1ครั้งหน้าคอนแทคแรกจะทำงานและหยุดทำงานลงเมื่อมีการจ่ายไฟครั้งที่2 ทำให้หน้าคอนแทคต่อๆไปทำงานเรียงสลับกัน

    หลังจากที่ทราบรูปแบบการทำงานของรีเลย์แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ!! ชนิดของคอนแทค (Contact) หรือหน้าสัมผัสจ้าา ประกอบด้วย

    • หน้าคอนแทคแบบ NO (Normally Opened) : หน้าคอนแทคที่โดยปกติจะเปิดค้างไว้ และจะทำงานต่อเมื่อมีการจ่ายไฟผ่านขดลวด ก้านสัมผัสจะเลื่อนมาต่อติดกัน
    • หน้าคอนแทคแบบ NC (Normally Closed) : หน้าคอนแทคที่โดยปกติจะปิดอยู่ แต่หากมีการจ่ายไฟผ่านขดลวด ก้านสัมผัสจึงจะออกจากกัน