ก่อนที่จะทำงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานควรจะมีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีในการทำงาน และ ระบบไฟฟ้า ซึ่งระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ตามบ้านก็ล้วนแต่มีอันตราย ถึงแก่ชีวิตได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นเราจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก (Safety first)
1. เลือกใช้งานอุปกรณ์ตัดวงจรอัตโนมัติ ( ELCB – Earth Leakage Circuit Breaker )
เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับอันตรายจากการใช้งานไฟฟ้า เพราะเมื่อมีกระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลออกจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือมีกระแสไฟฟ้าไหลลงดินผ่านตัวนำ ร่างกาย หรือสื่ออื่นๆ เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ก็จะทำการตัดวงจรทันที
2. ติดตั้งสายดิน
เมื่อกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกนอกวงจรลงสู่พื้นดิน สายดินจะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย และกับอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ โดยสายดินนี้จะถูกติดตั้งอยู่ที่เมนไฟและมักจะทำงานควบคู่กับอุปกรณ์ตัดวงจรอัตโนมัติ
3. แยกวงจรเป็นสัดส่วน
ไม่เดินวงจรทุกอย่างภายในอาคารให้อยู่ในอุปกรณ์ควบคุมตัวเดียว ควรจะแยกให้เป็นส่วนๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ปริมาณไฟสูง ๆ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย และยังทำให้การบำรุงรักษาสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
4. เลือกขนาดสายไฟให้ถูกต้อง
ขั้นตอนแรกก่อนการวางแผนติดตั้งระบบไฟ สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือการคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งานภายในอาคารหรือในโรงงานอุตสาหกรรมให้ถูกต้องเหมาะสมเสียก่อน เนื่องจากการเลือกใช้สายไฟที่ทนกระแสได้น้อยกว่าความเป็นจริงอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ หรือหากเราเลือกใช้สายไฟที่มีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้สายไฟมีความร้อนสูงจนอาจทำให้ฉนวนกันไฟฟ้าละลาย และอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
5. อย่ามองข้ามท่อร้อยสายไฟ
ท่อร้อยสายที่มีสายไฟอยู่ภายในส่วนใหญ่มักจะเดินในที่ลับตา ไม่ว่าจะเป็นท่อแบบแข็งหรือแบบอ่อน แต่ถึงอย่างไรนั้นเราก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงานและไม่ลืมที่จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เพราะสิ่งแปลกปลอมโดยรอบอาจส่งผลให้สายไฟชำรุด หรือ เสียหายได้ ตัวอย่างเช่น น้ำและน้ำมัน เป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ทีมวิศวกรผู้ชำนาญการ บริษัท ต.ธีรกิจ ออโตเมชั่น จำกัด
อ้างอิงข้อมูล : เว็บไซด์ gurubaan, 06-07-2017, เดินระบบไฟฟ้าในบ้าน