• หม้อแปลงไฟฟ้า หรือที่เขาเรียกกันว่า…Transformer

    หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แปลงระดับแรงดันไฟฟ้า และเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เท่านั้น!!  การจะทำให้แรงดันไฟสูงขึ้นหรือลดต่ำลงนั้นทำได้โดยอาศัยการเหนี่ยวนำไฟฟ้าระหว่างขดลวด

    ส่วนประกอบของหม้อแปลงไฟฟ้า

    หม้อแปลงไฟฟ้ามีส่วนประกอบอยู่ 3 ส่วนด้วยกันที่สำคัญ ได้แก่

    ขดลวดปฐมภูมิ (Primary Winding) –> เป็นชุดรับที่ทำหน้าที่รับแรงดันไฟเข้า

    แกนหม้อแปลง (core) –> มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เคลือบด้วยฉนวน เรียกว่า แผ่นลามิเนต

    ขดลวดทุติยภูมิ (Secondary winding) –> เป็นชุดที่ทำหน้าที่จ่ายแรงดันไฟที่แปลงแล้วออก

    การทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้า

                    การเปลี่ยนแปลงระดับแรงดันไฟฟ้าด้วยหม้อแปลงนั้น จะเกิดได้จากจำนวนรอบของชุดขดลวดทั้ง 2 ด้าน ( ปฐมภูมิ และ ทุติยภูมิ )  อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับเส้นแรงแม่เหล็กที่เกิดขึ้นภายในขดลวดทั้งสองด้วย  ซึ่งในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นแรงแม่เหล็กก็จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำขึ้น

    ** [ Tips ในกรณีของหม้อแปลง 3 เฟส สามารถนำหม้อแปลงไฟ 1 เฟส มาขนานกัน หรือทำโครงสร้างหม้อแปลงให้เป็นแบบ 3 เฟสเลยก็ได้  แต่หากโครงสร้างเป็นแบบ 3 เฟสอยู่แล้ว การขยายหรือลดขนาดจะทำได้ยาก ] **

    การทำงานของหม้อแปลงไฟฟ้าเมื่อปล่อยแรงดันไฟกระแสสลับเข้าที่ขดลวดปฐมภูมิจะเกิดเส้นแรงแม่เหล็กชักนำขึ้น ทำให้เกิดแรงดันไฟสลับขึ้นที่ขดทุติยภูมิโดยมีความถี่เท่าเดิม ขดทุติยภูมิจะมีขดลวดขดเดียวหรือหลายขดก็ได้ ซึ่งแรงดันไฟที่ขดทุติยภูมิจะมีมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของขดลวดที่ปฐมภูมิและทุติยภูมิ

    ดังนั้นหากเราพันขดลวดทุติยภูมิให้มีจำนวนรอบมากกว่าขดปฐมภูมิ แรงดันไฟฟ้าขาออกด้านทุติยภูมิจะสูงกว่าแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายเข้ามาจากทางขดลวดปฐมภูมิ เราเรียกหม้อแปลงชนิดนี้ว่า “หม้อแปลงชนิดแปลงแรงดันขึ้น (Step Up Transformer)”

    และเช่นกันหากพันขดลวดทุติยภูมิให้มีจำนวนรอบน้อยกว่าขดปฐมภูมิ แรงดันไฟฟ้าขาออกด้านทุติยภูมิจะต่ำกว่าแรงดันไฟที่จ่ายเข้าจากทางขดลวดปฐมภูมิ หม้อแปลงชนิดนี้จะเรียกว่า “หม้อแปลงชนิดแปลงแรงดันลง (Step Down Transformer)”

    สรุป :

    หม้อแปลงไฟฟ้า ( Transformer ) เป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับการแปลงพลังงานไฟฟ้า โดยสามารถเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับหรือ AC Voltage ให้มีแรงดันมากขึ้น ( เรียกว่า Step up Transformer ) เพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟสูง และเช่นเดียวกันก็สามารถลดลงแรงดันไฟฟ้าให้มีกำลังน้อยลงได้ด้วย ( เรียกว่า Step down Transformer )


    เรียบเรียงข้อมูลโดย : ทีมวิศวกรผู้ชำนาญการ บริษัท ต.ธีรกิจ ออโตเมชั่น จำกัด

    อ้างอิงข้อมูล : http://www.g-tech.ac.th/vdo/moterdoc/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%201%20%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%20%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2.pdf